ข้ามไปเนื้อหา

วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

พิกัด: 13°52′27″N 100°35′35″E / 13.874288°N 100.592923°E / 13.874288; 100.592923
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
ไฟล์:Prasri01.jpg
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระศรีมหาธาตุ
ที่ตั้งถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10220
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก พระชนิดวรมหาวิหาร
นิกายเถรวาท ธรรมยุต
พระประธานพระพุทธสิหิงค์
พระพุทธรูปสำคัญพระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศอินเดีย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรวิหาร เริ่มสร้างเมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๘๓ ที่ริมถนนพหลโยธิน ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๑๘ แขวงอนุสาวรีย์ ( เดิมชื่อตำบลกูบแดง ) เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เปิดเป็นเสนาสนะแห่งพระภิกษุสงฆ์ เป็นรัฐพิธี เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๕ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาญาณ สมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นประธาน เชิญพระพุทธสิหิงค์ จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ

เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๘๓ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นดำรงยศ และบรรดาศักดิ์ เป็นพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขออนุมัติเงินเพื่อสร้างวัด เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และประสงค์จะให้แล้วเสร็จทันงานวันชาติ คือ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๔ สถานที่ที่จะสร้างนั้นควรอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์หลักสี่ โดยท่านมีเหตุผลว่าชาติกับศาสนานั้นเป็นของคู่กัน จะแยกจากกันมิได้ และหลักธรรมของพระพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรสร้างวัดขึ้นใกล้กับอนุสาวรีย์หลักสี่ ซึ่งอนุสาวรีย์แห่งนี้ได้จารึกชื่อผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปราบกบฎเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ และประสงค์จะให้ชื่อว่า "วัดประชาธิปไตย"

ในขณะที่กำลังดำเนินการพิจารณาอยู่นั้น เกิดศุภนิมิตรอันประเสริฐโดยที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ส่งคณะฑูตพิเศษ อันมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรี) ซึ่งขณะนั้นดำรงยศและบรรดาศักดิ์เป็นนาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอินเดีย (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ อินเดียยังไม่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ) คณะฑูตได้ติดต่อขอดังนี้

๑. พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒. ขอกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ๕ กิ่ง จากต้นที่สืบเนื่องมาแต่เดิม ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับ ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ พุทธคยาประเทศอินเดีย

๓. ขอดินจากสังเวชนียสถาน ๔ แห่งคือ จากที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน

รัฐบาลอินเดียได้พิจารณาเห็นว่า ประชาชนที่เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนานั้นมีมาก แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศ แต่มีประเทศเดียวเท่านั้นในโลกนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๔)ที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาทางราชการเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นประเทศเอกราช มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศและทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก "ประเทศนั้นคือ" ประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลอินเดียจึงพิจารณามอบให้ คือ ๑. พระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบค้นพบ ณ มหาสถูปธรรมราชิกะ และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ๒. มอบกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ให้ตามที่รัฐบาลไทยเสนอขอ ๕ กิ่ง ๓. และมอบดินจากสังเวชนียสถานให้ตามความประสงค์

รัฐบาลไทยจึงตกลงที่จะอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วัดที่สร้างใหม่นี้ และเห็นว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ และพระบรมสารีริกธาตุเป็นมหาสิริมงคลแก่วัดที่จะสร้างใหม่ ซึ่งได้รับมาในโอกาสเดียวกันกับที่จะสร้างวัดพอดี จึงตกลงตั้งนามวัดว่า "วัดพระศรีมหาธาตุ"

การสร้างวัดจึงได้เริ่มต้นขึ้น และรัฐบาลพิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ การสร้างวัดนี้ควรเป็นงานของชาติ ประชาชนควรได้มีส่วนร่วมด้วย รัฐบาลจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริจาคทรัพย์ จึงมีประชาชนจำนวนมากมหาศาล ที่บริจาคที่ดิน บริจาคเงิน บริจาคทรัพย์สมบัติต่าง ๆ เป็นอันมาก โดยที่วัดนี้จะเป็นการสร้างวัดอย่างเป็นทางการวัดแรก ในระบอบประชาธิปไตยและยังประสงค์จะให้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระศรีมหาโพธิ์อีกด้วย ดังนั้นเพื่อเชิดชูพระพุทธศาสนา และรักษาศิลปของไทย รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ร่วมมือกันสร้าง ในขั้นต้นได้มอบให้ พลโท จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ขณะนั้นดำรงยศและบรรดาศักดิ์เป็น พันเอก หลวงเสรีเริงฤทธิ์ และอีกท่านหนึ่งคือ หลวงวิจิตรวาทการ (พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง พระพรหมพิจิตรเป็นผู้ออกแบบ นายช่างกรมศิลปากรและกรมรถไฟ เป็นนายช่างก่อสร้าง และเชิญผู้มีเกียรติที่มีความรู้ทางเทคนิค เฉพาะทางอีกหลายท่านมาร่วมด้วยจนสำเร็จ กระทำพิธีเปิดและถวายเป็นเสนาสนะแห่งภิกษุสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๕

ที่ดินของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๒๒๖ ไร่ ๒ งาน ๒๖ ตารางวา ด้านหน้าติดถนน พหลโยธิน แบ่งออกเป็นที่ตั้งวัด ๘๓ ไร่เศษ และที่ธรณีสงฆ์เหลือจากที่ตั้งวัดอีก ๑๔๓ ไร่เศษ ได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นที่สำนักสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๘๔ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๘๔

พระอุโบสถเป็นแบบพระที่นั่งจตุรมุข ต่อจากมุขด้านเหนือและใต้เป็นวิหารคตล้อมตัวอุโบสถอยู่อีกชั้นหนึ่ง ด้านหลังเป็นศาลาการเปรียญ ตรงหน้าพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งพระมหาเจดีย์ สูง ๓๘ เมตร มีนามว่าพระเจดีย์ศรีมหาธาตุ ได้มีพระราชพิธียกฉัตรยอดเจดีย์ เมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๔๘๔ พระมหาเจดีย์นี้เป็น ๒ ชั้น ชั้นนอกเป็นเจดีย์ใหญ่ ชั้นในเป็นเจดีย์องค์เล็กอยู่ตรงกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ในระหว่างผนังด้านในของเจดีย์องค์ใหญ่กับองค์เล็กมีเนื้อที่กว้าง ๒ เมตรครึ่ง เป็นทางเดินได้รอบ มีประตูเข้าออก ๔ ด้าน สำหรับให้ประชาชนเข้าไปนมัสการ ผนังด้านในของพระเจดีย์องค์ใหญ่ได้ทำเป็นช่องไว้ ๑๑๒ ช่อง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๘๔ ให้ใช้สำหรับบรรจุอัฐิผู้ที่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นสมควร กล่าวคือผู้ที่ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติ เช่นเดียวกับของฝรั่งเศส ตรงหน้าพระเจดีย์ออกไปทั้ง ๒ ข้าง ด้านตะวันออกทำเป็นเกาะรูปกลมมีน้ำล้อมรอบ สำหรับเป็นที่ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ กิ่งพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทางรัฐบาลอินเดียมอบให้มา ๕ กิ่ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานประกอบพิธีปลูกไว้ ณ เกาะกลมนั้น ตรงที่สุดของคูทั้งสอง ๒ ข้าง ทางทิศตะวันออก เกาะละต้น เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๔๘๔ และกิ่งที่เหลือนำไปปลูก ณ วัดภาคต่างๆ

นอกจากนี้ในพื้นที่วัด ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร อีกด้วย

แหล่งข้อมูลอื่น

13°52′27″N 100°35′35″E / 13.874288°N 100.592923°E / 13.874288; 100.592923